วันศุกร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

บทวิเคราะห์ - ด้านวรรณศิลป์

ด้านวรรณศิลป์


๑) การสรรคำ   ลิลิตตะเลงพ่าย เป็นวรรณคดีมรดกล้ำค่าที่คนไทยควรศึกษาเพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจในวีรกรรมของนักรบไทยและภูมิใจในภาษาไทยที่กวีใช้ถ่ายทอดเรื่องราวได้อย่างมีคุณค่าทางด้านวรรณศิลป์ ด้วยการเลือกใช้ถ้อยคำได้อย่างไพเราะ ดังนี้



๑.๑) การใช้คำที่เหมาะแก่เนื้อเรื่องและฐานะของบุคคล กวีเลือกใช้คำที่แสดงฐานะของบุคคล ดังนี้
                                                         เบื้องนั้นนฤนาถผู้                   สยามินทร์
                                                เบี่ยงพระมาลาผิน                            ห่อนพ้อง
                                                ศัสตราวุธอรินทร์                            ฤาถูก องค์เอย
                                                เพราะพระหัตถ์หากป้อง                 ปัดด้วยขอทรง
                
จากโคลงบทนี้ กวีเลือกใช้คำที่มีศักดิ์คำสูง แสดงให้เห็นภาพเด่นชัดและไพเราะ เช่น
                                นฤนาถ                 หมายถึง     กษัตริย์
                                สยามินทร์             หมายถึง     กษัตริย์สยาม (กษัตริย์อยุธยา)
                                พระมาลา              หมายถึง     หมวก
                                ศัตราวุธอรินทร์    หมายถึง     อาวุธของข้าศึก
                                องค์                       หมายถึง     สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
                                พระหัตถ์               หมายถึง     มือ
                                ขอทรง                  หมายถึง     ขอสับสำหรับบังคับช้าง อยู่ใต้คอของช้าง


๑.๒) การใช้คำโดยคำนึงถึงเสียง ความไพเราะของถ้อยคำหรือความงามของถ้อยคำนั้น พิจารณาที่การใช้สัมผัส การเล่นคำ เล่นความ การเลียนเสียงธรรมชาติ เป็นต้นลิลิตตะเลงพ่ายมีการใช้คำที่มีเสียงเสนาะ ดังนี้

(๑) มีการใช้สัมผัสสระและสัมผัสพยัญชนะในคำประพันธ์ทุกบท ทำให้เกิดความไพเราะ เช่น
                “.....ถับถึงโคกเผาเข้า พอยามเช้ายังสาย หมายประมาณโมงครบ ประทบทัพรามัญ ประทันทัพพม่า ขับทวยกล้าเข้าแทง ขับทวยแขงเข้าฟัน สองฝ่ายยันยืนยุทธ์ อุดอึงโห่เอาฤกษ์ เอิกอึงเห่เอาชัย สาดปืนไฟยะแย้ง แผลงปืนพิษยะยุ่ง พุ่งหอกใหญ่คะคว้าง ขว้างหอกซัดคะไขว่ ไล่คะคลุกบุกบัน เงื้อดาบฟันฉะฉาด งาง้าวฟาดฉะฉับ.....
                สัมผัสสระ  ได้แก่  เข้า เช้า  สาย - หมาย  ครบ ทบ  รามัญ ทัน   พม่า กล้า   แทง แข็ง  ฟัน ยัน  ยุทธ์ อุด  ฤกษ์ เอิก   ชัย ไฟ    แย้ง แผลง     ยุ่ง พุ่ง  คว้าง ขว้าง    ไขว่ ไล่    บัน ฟัน        ฉาด ฟาด
                สัมผัสพยัญชนะ  ได้แก่  ถับ ถึง  โคก เข้า  ยาม ยังหมาย ประมาณ โมง ประทบ ทับ ประทัน ทัพ ขับ เข้า        ทวย แทง  ขับ แขงเข้า ยัน ยืน ยุทธ์  อุด อึง เอา เอิก อึง เอา ยะ แย้ง ยะ ยุ่ง คะ คว้าง  บุกบัน         ฉะ ฉาด ง่า ง้าว ฉะ ฉับ
                                             (๒) มีการใช้สัมผัสพยัญชนะเดียวกันเกือบทั้งวรรค เช่น
                                                กรตระกองกอดแก้ว    เรียมจักร้างรสแคล้ว
                                คลาดเคล้าคลาสมร
                                                จำใจจรจำจากสร้อย    อยู่แม่อย่าละห้อย
                                ห่อนช้าคืนสม                             แม่แล
                วรรคที่ ๑ ได้แก่ กร กอง กอด แก้ว
                วรรคที่ ๒ ได้แก่ เรียม ร้าง รส
                วรรคที่ ๓ ได้แก่ คลาด เคล้า คลา
                วรรคที่ ๔ ได้แก่ อยู่ อยาก
                                            (๓) มีสัมผัสสระในแต่ละวรรคของโคลงแต่ละบาทคล้ายกลบท เช่น
                                                ชาวสยามคร้ามเศิกสิ้น       ทั้งผอง
                                นายและไพร่ไป่ปอง                            รบร้า
                                อพยพหลบหลีกมอง                           เอาเหตุ
                                ซุกซ่อนห่อนให้ข้า                              ศึกได้ไปเป็น

บาทที่ ๑  ได้แก่  สยาม คร้าม
                บาทที่ ๒  ได้แก่  ไพร่ ไป่
                บาทที่ ๓  ได้แก่  อพยพ หลบ  
                บาทที่ ๔  ได้แก่ ซ่อน ห่อน  ได้ ไป
                                            ๔) การเล่นคำ เพื่อให้มีความลึกซึ้งและเกิดอารมณ์กระทบใจผู้อ่านโดยเน้นนัยของคำว่า สายหยุด ว่า ดอกสายหยุดจะหยุดส่งกลิ่นหอมเมื่อล่วงเข้าเวลาสาย แต่ยามสายนั้นก็มิอาจหยุดความรัก ความเสน่หา ที่มีต่อนางอันเป็นที่รักได้ เช่น
                                                สายหยุดหยุดกลิ่นฟุ้ง        ยามสาย
                                สายบ่หยุดเสน่ห์หาย                          ห่างเศร้า
                                กี่คืนกี่วันวาย                                        วางเทวษ ราแม่
                                ถวิลทุกขวบค่ำเช้า                                หยุดได้ฉันใด
                                (๕) การเล่นเสียงวรรณยุกต์ เช่น
                                                สลัดไดใดสลัดน้อง    แหนงนอน ไพรฤา
                                เพราะเพื่อมาราญรอน                 เศิกไสร้
                                สละสละสมร                              เสมอชื่อ ไม้นา
                                นึกระกำนามไม้                          แม่นแม้นทรวงเรียม
                                            (๖) การเลียนเสียงธรรมชาติ เช่น
                “....เจ้าพระยาไชยานุภาพ เจ้าพระยาปราบไตรจักร ตรับตระหนักสำเนียง เสียงฆ้องกลองปืนศึก อีกเอิกก้องกาหล เร่งคำรนเรียกมัน ชันหู ชูหางเล่น แปร้นแปร๋แลคะไขว่.
                           (๗) การใช้คำอัพภาส คือ การซ้ำอักษรลงหน้าคำศัพท์ ทำให้เกิดความไพเราะ เช่น

“...สาดปืนไฟยะแย้ง แผลงปืนพิษยะยุ่ง พุ่งหอกใหญ่คะคว้าง ขว้างหอกซัดคะไขว่ไล่คะคลุกบุกบัน เงื้อดาบฟันฉะฉาด ง่าง้าวฝาดฉะฉับ...
                ๒) การใช้โวหาร กวีเลือกใช้ถ้อยคำในการบรรยาย พรรณนาและเปรียบเทียบได้อย่างเหมาะสมกับเนื้อเรื่อง ทำให้ผู้อ่านมองเห็นภาพชัดเจน ดังนี้
                                            ๒.๑) การใช้คำให้เกิดจินตภาพ เช่น การใช้คำที่แสดงให้เห็นภาพการต่อสู้อย่างห้าวหาญของพลทหารทั้งสองฝ่ายที่ผลัดกันรุกรับขับเคี่ยวกันด้วยอาวุธหลากหลายทั้งขอ ง้าว ทวน หอก ธนู จนต่างฝ่ายล้มตายไปเป็นจำนวนมาก ดังตัวอย่าง
                ...คนต่อคนต่อรบ ของ้าวทบทะกัน ต่างฟันต่างป้องปัด วางสนัดหลังสาร  ขานเสียงคึกกึกก้อง  ว่องต่อว่องชิงชัย ไวต่อไวชิงชนะ             ม้าไทยพะม้ามอญ   ต่างเข้ารอนเข้าโรม ทวนแทงโถมทวนทบ  หอกเข้ารบรอหอก  หลอกล่อไล่ไขว่แคว้ง  แย้งธนูเหนี่ยวแรง ห้าวต่อห้าวหักหาญ  ชาญต่อชาญหักเชี่ยว  เรี่ยวต่อเรี่ยวหักแรง แขงต่อแขงหักฤทธิ์   ต่างประชิดฟอนฟัน  ต่างประชันฟอนฟาด  ล้วนสามารถมือทัด  ล้วนสามรรถมือทาน  ผลาญกันลงเต็มหล้า   ผร้ากันลงเต็มแหล่ง  แบ่งกันตายลงครัน ปันกันตายลงมาก ตากเต็มท่งเต็มเถื่อน   ตากเต็มเผื่อนเต็มพง
                นอกจากนี้ผู้แต่งใช้คำพรรณนา การสู้รบ ทำให้ผู้อ่านเห็นภาพช้างทรงของทั้งสองพระองค์ต่างสะบัดเหวี่ยงกันไปมา ผลัดเปลี่ยนกันได้ทีแต่ก็ไม่มีผู้ใดยอมแพ้ ช้างทรงของสมเด็จพระนเรศวรได้ล่าง พระมหาอุปราชาก็เพลี่ยงพล้ำ สมเด็จพระนเรศวรฟันพระมหาอุปราชาด้วยพระแสงของ้าวขาดสะพายแล่งสิ้นพระชนม์ทันที พระวรกายของพระมหาอุปราชาค่อยๆแอนลงซบกับคอช้างและสิ้นพระชนม์บนคอช้างนั่นเอง ตอนนี้นอกจากจะเห็นภาพการรบอย่างสง่างามแคล่วคล่องว่องไวสมเป็นกษัตริย์ของทั้งสองพระองค์ช่วงสุดท้ายยังเห็นภาพการสิ้นพระชนม์ของพระมหาอุปราชาที่ค่อยๆเอนพระองค์ลงซบกับคอช้าง เป็นภาพที่หดหู่และสะเทือนใจ ดังตัวอย่าง
                                                                พลอยพล้ำเพลียกถ้าท่าน    ในรณ
                                                บัดราชฟาดแสงพล                             พ่ายฟ้อน
                                                พระเดชพระแสดงดล                        เผด็จคู่ เข็ญแฮ
                                                ถนัดพระอังสาข้อน                            ขาดด้าวโดยขวา
                             ๒.๒) การใช้โวหารโดยการเปรียบเทียบ  ว่าสมเด็จพระนเรศวรมีฤทธิ์เหมือนพระรามยามต่อสู้กับทศกัณฐ์ ข้าศึกศัตรูที่พ่ายแพ้ไปเหมือนพลยักษ์ สมเด็จพระนเรศวรก็เหมือนองค์พระนารายณ์อวตารลงมา ดังตัวอย่าง

บุญเจ้าจอมภพขึ้น               แผ่นสยาม
                                                แสยงพระยศยินขาม                           ขาดแกล้ว
                                                พระฤทธิ์ดั่งฤทธิ์ราม                          รอนราพณ์ แลฤา
                                                ราญอริราชแผ้ว                                    แผกแพ้ทุกภาย
                                                                ไพรินทรนาศเพี้ยง              พลมาร
                                                พระดั่งองค์อวตาร                               แต่กี้
                                                แสนเศิกห่อนหาญราญ                      รอฤทธิ์ พระฤา
                                                ดาลตระดกเดชลี้                                  ประลาตหล้าแหล่งสถาน
                              ๒.๓) การใช้ถ้อยคำสร้างอารมณ์และความรู้สึก แม้ลิลิตตะเลงพ่ายเป็นเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และยอพระเกียรติพระมหากษัตริย์ แต่ด้วยความปรีชาในด้านภาษาอย่างลึกซึ้งของกวี กวีสามารถใช้ถ้อยคำ ทำให้ผู้อ่านเกิดความสะเทือนอารมณ์ เกิดความรู้สึกเห็นใจ เศร้าใจ ดีใจ ภูมิใจ ได้ตามจุดมุ่งหมายของกวี ดังนี้
                                                            ๑) การใช้ถ้อยคำให้เกิดความรู้สึกเห็นใจ เช่น ตอนที่พระมหาอุปราชาเคลื่อนกระบวนทัพ ขณะเดินทางมีการชมธรรมชาติ ชมพันธุ์ไม้ต่างๆ โดยการนำชื่อต้นไม้และดอกไม้มาเล่นคำให้สอดคล้องกับอารมณ์และความรู้สึกของพระมหาอุปราชาได้อย่างไพเราะ
                                                                สลัดไดใดสลัดน้อง             แหนงนอน ไพรฤา
                                                เพราะเพื่อมาราญรอน                        เศิกไสร้
                                                สละสละสมร                                       เสมอชื่อ ไม้นา
                                                นึกระกำนามไม้                                   แม่นแม้นทรวงเรียม
                                                                ไม้โรกเหมือนโรคเร้า           รุมกาม
                                                ไฟว่าไฟราคลาม                                  ลวกร้อน
                                                นางแย้มหนึ่งแย้มยาม                          เยาว์ยั่ว แย้มฤา
                                                ตูมดั่งตูมตีข้อน                                    อกอั้นกันแสง

                                                                สายหยุดหยุดกลิ่นฟุ้ง            ยามสาย
                                                สายบ่หยุดเสน่ห์หาย                             ห่างเศร้า
                                                กี่คืนกี่วันวาย                                        วางเทวษ ราแม่
                                                ถวิลทุกขวบค่ำเช้า                                หยุดได้ฉันใด
                                           (๒) การใช้ถ้อยคำเกิดอารมณ์สะเทือนใจ ดังปรากฏตอนที่พระมหาอุปราชาลา
พระสนม
                                                                พระผาดผายสู่ห้อง              หาอนุชนวลน้อง
                                                หนุ่มเหน้าพระสนม
                                                                ปวงประนมนบเกล้า           งามเสงี่ยมเฟี้ยมเฝ้า
                                                อยู่ถ้าทูลสนอง
                                                                กรตระกองกอดแก้ว            เรียมจักร้างรสแคล้ว
                                                คลาดเคล้าคลาสมร
                                                                จำใจจรจากสร้อย อยู่แม่อย่าละห้อย
                                                ห่อนช้าคืนสม แม่แล
                                            (๓) การใช้ถ้อยคำให้เกิดความรู้สึกเจ็บปวด เช่น ตอนพระมหาอุปราชาทูลพระเจ้าหงสาวดีว่าจะมีเคราะห์ไม่ต้องการออกรบ จึงถูกพระเจ้าหงสาวดีกล่าวประชดด้วยถ้อยคำให้เกิดความรู้สึกเจ็บปวดอับอายว่าให้เอาเครื่องแต่งกายหญิงมาสวมใส่
                “...ฟังสารราชเอารส ธก็ผะชดบัญชา เจ้าอยุธยามีบุตร ล้วนยงยุทธ์เชี่ยวชาญ หาญหักศึกบมิย่อ ต่อสู้ศึกบมิหยอน ไป่พักวอนว่าใช้ ให้ธหวงธห้าม แม้นเจ้าคร้ามเคราะห์กาจ จงอย่ายาตรยุทธนา เอาพัสตราสตรี สวมอินทรีย์สร่างเคราะห์ ธตรัสเยาะเยี่ยงขลาด องค์อุปราชยินสาร แสนอัประมาณมาตย์มวล นวลพระพักตร์ผ่องเผือด เลือดสลดหมดคล้ำ ช้ำกมลหมองมัว..
                                           (๔) การใช้ถ้อยคำแสดงความโศกเศร้า เช่นตอนที่พระมหาอุปราชาต้องจากพระสนมและเดินทัพ เมื่อเห็นสิ่งใดก็คิดถึงนางอันเป็นที่รัก การคล่ำครวญของพระมหาอุปราชา ทำให้ผู้อ่านเห็น

ใจในความรักของพระมหาอุปราชา ดังปรากฏในตอนที่พระมหาอุปราชาเห็นต้นไม้ ดอกไม้ แล้วรำพันถึงพระสนม
                                                                มาเดียวเปลี่ยวอกอ้า             อายสู
                                                สถิตอยู่เอ้องค์ดู                                   ละห้อย
                                                พิศโพ้นพฤกษ์พบู                               บานเบิก ใจนา
                                                พลางคะนึงนุชน้อย                            แน่งเนื้อนวลสงวน
                                                                พระครวญพระคร่ำไห้        โหยหา
                                                พลางพระพิศพฤกษา                          กิ่งเกี้ยว
                                                กลกรกนิษฐนา-                                   รีรัตน์ เรียมฤา
                                                ยามตระกองเอวเอี้ยว                          โอบอ้อมองค์เรียม


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น