วันอาทิตย์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2558

เกี่ยวกับลิลิตตะเลงพ่าย

ลิลิตตะเลงพ่าย


สาระสำคัญ




            ลิลิตตะเลงพ่าย  พระนิพนธ์ในสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส เป็นวรรณคดีเฉลิมพระเกรียรติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช โดยกล่าวถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งที่พระมหาอุปราชาของพม่ายกทัพมาเพื่อตีกรุงศรีอยุธยาแล้วสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาจนได้รับชัยชนะ ชี้ให้เห็นถึงการรักษาเอกราชของบรรพบุรุษไทย ทำให้ผู้อ่านเกิดความรักชาติและมีจิตสำนึกที่ดี



ความเป็นมา


        ลิลิตตะเลงพ่าย  เป็นวรรณคดีเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช  มีการดำเนินเรื่องตามพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา  เริ่มตั้งแต่สมเด็จพระมหาธรรมราชาเสด็จสวรรคต  จนถึงตอนที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทำยุทธหัตถีกังพระมหาอุปราชาของพม่า  พระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ.๒๑๓๕
          สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสทรงพระนิพนธ์เรื่องนี้เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช โดยแต่งแนวเดียวกับยวนพ่ายโคลงดั้น หรือโคลงยวนพ่าย ซึ่งมีมาก่อนตั้งแต่สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

ประวัติผู้แต่ง
           

        ผู้ทรงพระนิพนธ์เรื่องลิลิตตะเลงพ่าย คือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสเป็นโอรสองค์ที่ ๒๘ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ( รัชกาลที่ ๑ ) พระมารดา คือ เจ้าจอมมารดาจุ้ย ต่อมาได้เลื่อนเป็น " ท้าวทรงกันดาล" เป็นตำแหน่งผู้รักษาคลังใน เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ( รัชกาลที่ ๓ ) ประสูติเมื่อวันเสาร์ เดือนอ้าย ขึ้น ๕ ค่ำ ปีจอ จุลศักราช ๑๑๕๒ ตรงกับวันที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๓๓ และมีพระนามเดิมว่าพระองค์เจ้าวาสุกรี 
            เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๔๕ ในสมัยรัชกาลที่ ๑ พระองค์ทรงผนวชเป็นสามเณรเมื่อพระชนมายุเพียง ๑๒พรรษาและจำพรรษาอยู่ที่วัดเพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร ทรงเป็นศิษย์ของสมเด็จพระพนรัตน์ ( แก้ว ) พระองค์เจ้าสามเณรวาสุกรีประทับจำพรรษาและศึกษาอยู่ในวัดพระเชตุพนฯ จนสิ้นรัชกาลที่ ๑
            สมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ( รัชกาลที่ ๒ ) ได้ทรงผนวชเป็นพระภิกษุเมื่อปีมะแม พ.ศ. ๒๓๕๔ ทรงได้สมณฉายาว่า "สุวัณณรังษี" ทรงผนวอยู่ได้ ๓ พรรษา สมเด็จพระพนรัตน์อธิบดีสงฆ์วัดพระเชตุพนฯ ถึงแก่มรณภาพ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ( รัชกาลที่ ๒ ) เสด็จพระราชดำเนินมาที่วัดพระเชตุพนฯ พระองค์โปรดแต่งตั้งให้พระองค์เจ้าพระ"สุวัณณรังษี" เป็นพระราชาคณะและอธิบดีสงฆ์ วัดพระเชตุพนฯ ต่อมาทรงได้รับการเลื่อนขั้นเป็นเจ้าต่างกรม คือ "กรมหมื่นนุชิตชิโนรส ศรีสุคตขัตติยวงศ์" และดำรงพระยศนี้อยู่จนสิ้นรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓ ) 
            เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ( รัชกาลที่ ๔ ) เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติแล้วมีพระราชโองการประกาศเลื่อน "กรมหมื่นนุชิตชิโนรส ศรีสุคตขัตติยวงศ์" ให้ดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปริฯายก ณ วันศุกร์ ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๙ ปีกุน จุลศักราช ๑๒๑๓ ( พ.ศ. ๒๓๙๔ ) และได้เลื่อนพระอริยยศสูงขึ้นตามลำดับ คือ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หััวได้ทรงสถาปนากรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสเป็น "สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส" เมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๔



           พระองค์ทรงเชี่ยวชาญทั้งคดีโลกและคดีธรรม และเชี่ยวชาญด้านอักษรศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง มีผลงานพระนิพนธ์ต่างๆ มากมาย เช่น กฤษณาสอนน้องคำฉันท์ พระปฐมสมโพธิกถา ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก ๑๑ กัณฑ์ สรรพสิทธิ์คำฉันท์ สมุทรโฆษคำฉันท์ เป็นต้น และเป็นพระอาจารย์ของเจ้านายหลายพระองค์ เช่น รัชกาลที่ ๓ และรัชกาลที่ ๔
            สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส มีพระชนมายุในรัชกาลที่ ๔ เพียง ๒ พรรษา ก็ประชวรด้วยพระโรคชราและสิ้นพระชนม์เมื่อวันศุกร์ เดือนอ้าย ขึ้น ๙ ค่ำ ปีฉลูเบญจศก จุลศักราช ๑๒๑๕ เวลาบ่าย ๓ โมง ตรงกับวันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๙๖ สิริรวมพระชนมายุได้ ๖๔ พรรษา พระองค์อยู่ในสมณเพศเกือบจะตลอดพระชนม์ชีพ รวมพระชนม์ในร่มกาสาวพัสตร์ได้ ๕๒ พรรษา

ลักษณะคำประพันธ์
         ลิลิตตะเลงพ่ายเป็นวรรณคดีแนวประวัติศาสตร์และเป็นวรรณกรรมเฉลิมพระเกียรตินับเป็นวรรณคดีที่มุ่งสดุดีวีรกรรมด้า่นการรบของวีรบุรุษของชาติ คือ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชแต่งเป็นลิลิตสุภาพ ประกอบด้วยร่ายสุภาพและโคลงสุภาพ อันได้แก่ โคลงสอองสุภาพ โคลงสามสุภาพ และโคลงสี่สุภาพ สลับกันตามความเหมาะสมของเนื้อหา โดนเริ่มต้นด้วยร่ายสุภาพซึ่งเป็นบทยอพระเกียรติและสดุดีความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมือง โดยแต่งให้คำสุดท้ายของบทประพันธ์บทต้น ส่งสัมผัสมายังคำที่ ๑ หรือคำที่ ๒ หรือคำที่ ๓ ของบทต่อไป เชื่อมกันอย่างนี้ตลอดทั้งเรื่อง เรียกว่า เข้าลิลิต


        ลักษณะคำประพันธ์ของลิลิตตะเลงพ่าย มีดังนี้
     ๑) ร่ายสุภาพ 
             ร่ายสุภาพบทหนึ่งจะมีกี่วรรคก็ได้ วรรคหนึ่งมี ๕ คำ คำสุดท้ายของวรรคหน้าต้องมาสัมผัสกับคำที่ ๑ , ๒ หรือ ๓ ของวรรคต่อๆไป เป็นเช่นนี้ตลอด และจบลงด้วยโคลงสองสุภาพ ดังผังภูมิ





        ๒) โคลงสองสุภาพ
                โคลงสองสุภาพมีสามวรรค วรรคหนึ่งและวรรคสองมีวรรคละห้าคำ วรรคที่สามมีสี่คำและคำสร้อยสองคำ บังคับเอกโทในวรรค ดังผังภูมิ



๓) โคลงสามสุภาพ 
                โคลงสามสุภาพ มีจำนวนวรรคเพิ่มจากโคลงสองสุภาพอีกหนึ่งวรรค โดยคำสุดท้ายของวรรคแรก ส่งสัมผัสไปยังคำที่สามของวรรคสอง คำสุดท้ายวรรคที่ ๒ สัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคที่ ๓ บังคับ เอก โท ดังผังภูมิ


๔) โคลงสี่สุภาพ 
                โคลงสี่สุภาพมีสี่บาท บาทละสองวรรค วรรคหน้าห้าคำ วรรคหลังสองคำ เฉพาะวรรคหลังบาทที่ ๔ มี ๔ คำ คำสร้อยมีได้ท้ายบทที่ ๑ และ ๓ มีบังคับเอก ๗ แห่ง โท ๔ แห่งคำเอก โท ในวรรคที่ ๑ บาทที่ ๑ นั้ันเปลี่ยนที่กันได้ คือ เอาคำโทไว้หน้าคำเอกก็ได้ ส่วนในที่ที่ต้องการคำเอกอาจใช้คำตายหรือคำเสียงสั้นแทนได้ แต่ห้ามใช้คำตายในคำที่ ๔ วรรคหลัง บาทที่ ๔ ใช้คำเอกโทษ โทโทษได้ ดังผังภูมิ





เรื่องย่อ


       คำว่า ตะเลง หมายถึง มอญ พ่าย แปลว่า แพ้ คำว่า ตะเลงพ่าย แปลตามตัวอักษรคือ มอญแพ้ แต่พม่าเป็นผู้ที่ปกครองมอญอยู่ คำว่าตะเลงในที่นี้จึงหมายถึง พม่าและมอญเป็นผู้แพ้สงคราม เนื้อหาในลิลิตตะเลงพ่ายมี ๑๒ ตอน โดยเริ่มต้นเรื่องด้วยร่ายสุภาพและโคลงสี่สุภาพยอพระเกียรติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งกล่าวถึงการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช สมเด็จพระนเรศวรทรงขึ้นครองราชย์โดยมีสมเด็จพระเอกาทศรถเป็นพระมหาอุปราชพระเจ้าหงสาวดีทราบข่าวไทยผลัดเปลี่ยนแผ่นดินใหม่ก็ปรารถว่าจะมาตีไทยเพื่อหยั่งเชิง จึงมีพระราชบัญชาให้พระมหาอุปราชายกทััพมาตีไทย เมื่อลานางสนมแล้วก็ยกทัพเจ้ามาทางเมืองกาญจนบุรี
        ฝ่ายสมเด็จพระนเรศวรปรารถจะไปตีเมืองเขมร ครั้นรู้ข่าวก็ทรงเตรียมการสู้ศึกพม่า ทรงตรวจแล้วตระเตรียมกองทัพ พระมหาอุปราชาทรงปรึกษาการศึกแล้วยกเข้ามาปะทะทัพหน้าของไทย ส่วนสมเด็จพระนเรศวรก็ทรงปรึกษาเพื่อหาทางเอาชนะข้าศึก เมื่อทัพหลวงเคลื่อนพลช้างทรงของสมเด็จพระนเรศวรและช้างของสมเด็จพระเอกาทศรถกำลังตกมัน ก็เตลิดเข้าไปในวงล้อมของข้าศึก ณ ตำบลตระพังตรุ สมเด็จพระนเรศวรทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา สมเด็จพระเอกาทศรถทรงทำยุทธหัตถีกับมางจาชโรและได้รับชัยชนะทั้งสองพระองค์ เมื่อพระมหาอุปราชาถูกฟันขาดคอช้าง กองทัพหงสาวดีก็แตกพ่ายกลับไป
        สมเด็จพระนเศวรทรงปูนบำเหน็จทหารและปรึกษาโทษนายทัพนายกองที่ตามช้างทรงเข้าไปในกองทัพพม่าไม่ทัน สมเด็จพระวันรัตทูลขอพระราชทานอภัยโทษแทนแม่ทัพนายกองทั้งหมด สมเด็จพระนเรศวรก็โปรดพระราชทานอภัยโทษให้ โดยให้ยกทัพไปตีทวายและตะนาวศรีเป็นการแก้ตัว จากนั้ันได้ทรงจัดการทำนุบำรุงหัวเมืองทางเหนือ เจ้าเมืองเชียงใหม่มาสวามิภักดิ์ขอเป็นเมืองขึ้น สมเด็จพระนเรศวรทรงรับทูตเชียงใหม่และจบลงด้วยการยอพระเกียรติสมเด็จพระนเรศวร ตอนท้ายกล่าวถึงธรรมะสำหรับพระเจ้าแผ่นดินและบอกจุดมุ่งหมายในการแต่งบอกชื่อผู้แต่ง สมัยที่แต่งและตำอธิษฐานของผู้ทรงนิพนธ์ คือ ขอให้บรรลุโลกุตรธรรม แต่ถ้ายังเวียนว่ายตายเกิดอยู่ก็ขอให้ได้เป็นกวีทุกชาติไป



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น